วันอังคารที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2557

การบันทึกเสียงวีดีโอ

             ตอนนี้เรามาถึงเรื่องเกี่ยวกับการบันทึกเสียงวีดีโอกันแล้วนะครับ แน่นอนว่าก็มีวิธีการบันทึกเสียงได้หลายๆ แบบ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการไปใช้งาน เช่น การบันทึกเสียงแบบสัมภาษณ์  การบันทึกเสียงภาพยนตร์หรือหนังสั้น  การบันทึกเสียงเพื่อใช้ในการบรรยาย เป็นต้น
เนื่องจากรูปแบบในการใช้งานที่หลากหลายนี้เอง ทำให้เราต้องเลือกใช้อุปกรณ์ในการบันทึกเสียงที่เหมาะสมกับงานด้วยครับ (แต่ไม่ต้องตกใจไปนะครับ...ผมมีทางออกให้)
เรามาดูอุปกรณ์ที่ใช้ในการบันทึกเสียงด้วยกันดีกว่าว่ามีแบบไหนบ้าง และใช้ในวัตถุประสงค์อะไร (เอาแบบทฤษฎีผมนะ)

1. ไมค์ที่ติดมากับกล้อง (เหมาะกับงานที่ไม่เน้นเสียง)

โดยปกติกล้องทุกตัวย่อมมีไมค์ติดมาด้วยเสมอ แต่ไมค์ที่ติดมานี้ก็เหมาะกับการบันทึกเสียงบรรยากาศโดยรวมทั่วๆ ไปเท่านั้น ไม่เหมาะกับการนำมาบันทึกสัมภาษณ์ (แต่ถ้าจะใช้จริงๆ ก็ต้องอยู่ในสถานที่เงียบ ไม่มีเสียงรบกวนภายนอก) เพราะไมค์กล้องจะเก็บทุกเสียงที่เข้ามาทำให้บางครั้งเสียงที่เราอยากได้จริงๆ กลับฟังไม่รู้เรื่อง

2. ไมค์ Shot Gun (เหมาะกับงานเก็บบรรยากาศ หนัง )

เป็นไมค์ที่สามารถหาซื้อมาติดที่ตัวกล้องเพิ่มเติมได้ ไมค์ชนิดนี้จะช่วยเจาะไปยังแหล่งเสียงที่เราหันหัวไมค์เข้าไปหา ทำให้เสียงที่เราต้องการชัดเจนขึ้น แต่ก็ยังคงเก็บเสียงภายนอกเข้ามาด้วยเช่นกัน เหมาะสำหรับงานเก็บบรรยากาศ งานสารคดี และงานพวกหนัง แต่ถ้าจะใช้ในการทำหนังต้องต่อกับด้ามจับที่เขาเรียกกันว่าไมค์บูมครับ
ไมค์ Shot Gun ติดไว้เพื่อเจาะสัญญาณเสียง

3. ไมค์ติดปกเสื้อ (เหมาะกับงานสัมภาษณ์)

แน่นอนว่าเสียงจากไมค์ที่มากับกล้องนั้นไม่สามารถตอบโจทย์ได้อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะถ้าเราต้องการเสียงพูดที่ฟังชัดเจน เป็นลักษณะการสัมภาษณ์ หรือมีพิธีกร  เราต้องใช้ไมค์ติดปกเสื้อแล้วต่อแจ็คกับช่องไมค์ของกล้องครับ เพราะไมค์ชนิดนี้จะรับสัญญาณเสียงจากผู้พูดโดยตรง และตัดเสียงรบกวนจากภายนอกออกไป(ในระดับหนึ่ง) หาซื้อไม่ยากครับมีทั้งของแพงและของถูก ไมค์ที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ก็ได้ หรือของดีๆ ของยี่ห้อ Rod ก็ได้ครับ ขอแนะนำให้มีไว้เป็นสมบัติส่วนตัวหนึ่งชิ้นกันเลยทีเดียว
ไมค์ติดปกเสื้อ

สิ่งที่ผมขอแนะนำ

ตอนนี้ผมใช้อยู่ 2 ตัวเป็นหลักนะครับ นั่นคือไมค์ติดปกเสื้อ (เอาหัวไมค์มาต่อสายเอง) กับไมค์สารพัดประโยชน์ Zoom H1/H4 ผมอยากให้มีไว้เป็นเจ้าของคนละตัวเลยนะครับ (ราคาไม่แพงมาก) ข้อดีของมันคือ

1. ใช้บันทึกเสียงบรรยายได้

ถ้าเราต้องมีการบรรยายเสียงลงไปในวีดีโอที่ตัดต่อ ก็อัดเสียงผ่าน Zoom H1 ตัวนี้ได้เลยครับ เสียงออกมาใสแจ๋วมาเลยทีเดียว

2. ใช้ต่อกับไมค์ติดปกเสื้อได้

Zoom H1 เครื่องบันทึกเสียงสารพัดประโยชน์
ราคาไม่แพง ควรมีไว้ติดตัว
ถ้าสายไมค์ติดปกเสื้อเราสั้น ก็เอาสายไมค์เสียบเข้ากับ Zoom H1 ทีนี้กล้องกับไมค์จะอยู่ห่างกันแค่ไหนก็ไม่มีปัญหา ใช้แทนไมค์ไวเลสไร้สายได้เลย

3. ใช้บันทึกเสียงผ่านเครื่องมิกเซอร์ได้

ช่องเสียบไมค์ของZoom  เราสามารถต่อแจ็คจากมิกเซอร์มาบันทึกเสียงได้โดยตรง เช่นงานสัมมนา ดนตรี เราดึงจากมิกเซอร์บันทึกลง Zoom ได้เลย (เจ๋งจริงๆ)

4. สามารถฟังเสียงขณะบันทึกได้

กล้อง DSLR ไม่มีช่องเสียบหูฟัง เราจึงไม่สามารถฟังเสียงขณะบันทึกได้ ทำให้มีปัญหาถ้าเกิดเราต่อไมค์เข้ากับกล้องแล้วจู่ๆ ไมค์มีปัญหาขึ้นมา เราก็ไม่รู้ แต่ถ้าบันทึกผ่าน Zoom H1 เราฟังเสียงไปด้วยขณะบันทึก เราจะรู้ว่าเสียงดีหรือไม่ดี มีปัญหาหรือไม่

เอาล่ะเราไปซื้อ Zoom H1 กันดีกว่า 555



วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2557

หลักการถ่ายวีดีโอเบื้องต้น

การถ่ายวีดีโอมีทั้งส่วนที่เหมือนกับการถ่ายภาพนิ่ง และไม่เหมือน ส่วนที่เหมือนก็คงจะเป็นเรื่องของการจัดแสง  การจัดวางองค์ประกอบภาพให้พอเหมาะกับเฟรม แต่ส่วนที่ไม่เหมือนก็จะเป็นเรื่องการเคลื่อนไหวกล้องน่ันเองครับ

การวางองค์ประกอบภาพ

กฏ 3 ส่วน
สิ่งแรกที่เราจำเป็นต้องให้ความสนใจก็คือเรื่องการจัดวางองค์กอบภาพครับ ซึ่งมีหลักง่ายๆ ที่เราควรเรียนรู้ก็คือกฏ 3 ส่วนครับ วิธีการก็คือให้เราแบ่งเฟรมออกเป็น 3 ส่วนทั้งในแนวตั้งและแนวนอน จุดที่เส้นตัดกันคือตำแหน่งที่เหมาะสมกับการวางวัตถุ  บุคคล หรือสิ่งใดก็ตามที่เราต้องการเน้นครับ (ง่ายๆ ฝึกใช้กันดู)

ตัวอย่า่งการจัดวางองค์ประกอบภาพ

การเคลื่อนไหวของกล้อง

เมื่อพูดถึงการเคลื่อนไหวของกล้อง ก็มีอยู่หลายรูปแบบด้วยกันครับ แต่ละแบบก็ใช้ตามความเหมาะสม ลองสังเกตคนที่ถ่ายวีดีโอไม่เป็นก็จะเดินถ่ายไปเรื่อยๆ ถ้าเป็นงานแต่งก็จะเดินตามเจ้าสาว เจ้าบ่าวแล้วกดอัดไปตลอด พอนำกลับมาดูจะเกิดอาการวิงเวียนศีรษะได้ทันที ทีนี้เราลองมาดูการเคลื่อนไหวของกล้องที่เหมาะสมด้วยกันครับ

1. อยู่นิ่งๆ ไม่ต้องเคลื่อนกล้องไปไหน
      นี่คือหนึ่งในวิธีการถ่ายวีดีโอที่ดีที่สุดครับ คือคุณอยากถ่ายอะไร ก็ตั้งกล้องไว้นิ่งๆ เฉยๆ อาจจะเป็นดอกไม้  งานในพิธีต่างๆ อยากถ่ายโมเม้นท์ไหน ก็จัดองค์ประกอบภาพให้เรียบร้อยแล้วตั้งกล้องนิ่งๆ ไว้ ถ่ายตรงโน้นบ้าง ตรงนี้บ้าง เก็บบรรยากาศไปเรื่อยๆ ครับ

2. การแพนและทิล์ทกล้อง (Pan&Tilt)
อุปกรณ์ในการดอลลี่หรือสไลเดอร์
     การแพนกล้องคือการเคลื่อนกล้องจากซ้ายไปขวา หรือจากขวามาซ้าย ส่วนการทิลท์คือการเคลื่อนก้ลองจากล่างขึ้นบนหรือบนลงล่าง เป็นการค่อยๆ เปิดเผยถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น แล้วก็ช่วยทำให้เห็นสิ่งแวดล้อมที่อยู่ด้านซ้ายด้านขวาของวัตถุด้วยครับ

3. ดอลลี่และสไลเดอร์ (Dolly&Slider)
    เป็นการเคลื่อนที่กล้องบนรางที่เราเรียกว่ารางดอลลี่ หรือบนอุปกรณ์สไลเดอร์ จะให้ภาพที่คล้ายๆ กับการแพนหรือซูม  แต่ต่างกันตรงที่การแพนกับซูมนั้นกล้องอยู่กับที่ ส่วนส่วนดอลลี่กับสไลเดอร์เป็นการเลื่อนกล้องไปทางซ้ายหรือขวา หน้าหรือหลัง จะให้ภาพอีกแบบหนึ่ง (มันเป็นภาพแบบเทห์ๆ ที่พวก MV กับหนังชอบใช้กัน)

Steadicam ช่วยถ่ายภาพขณะ
เคลื่อนไหวไปพร้อมกัน
4. Sled & Vest (การใช้ Steadicam )
    คล้ายกับการที่เราถือกล้องเดินถ่ายไปเรื่อยๆ นั่นแหล่ะครับ เพียงแต่ว่ามีอุปกรณ์มาช่วยบาลานซ์กล้องให้มันนิ่งเวลาเดินไปด้วยเท่านั้น ซึ่งเราเรียกอุปกรณ์ชนิดนี้ว่า Steadicam ครับ แต่ถ้าไม่ใช้อุปกรณ์นี้เขาก็เรียกว่า Handheld  ครับ

    ทั้งหมดที่พูดมานี้ผมขอเน้นแค่ข้อ 1 กับ 2 ก่อนนะครับ เพราะที่เหลือต้องใช้อุปกรณ์เสริมเข้ามาช่วย ลองไปฝึกการวางองค์ประกอบภาพ การแพนและทิลท์ การตั้งกล้องเฉยๆ ด้วยกันนะครับ


ตัวอย่างงานวีดีโอที่ผมถ่ายมาล่าสุด มีรูปแบบ
การถ่ายหลายๆ อย่างที่กล่าวมาครับ

ตัวอย่างการเคลื่อนไหวภาพแบบต่างๆ 

วันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2557

โปรแกรมตัดต่อวีดีโอ

          หลายคนอาจสงสัยว่าจะเริ่มต้นใช้โปรแกรมอะไรในการตัดต่อวีดีโอดี  เพราะมีให้เลือกหลายโปรแกรมเหลือเกิน นี่ยังไม่รวมพวก App ต่างๆ ที่สร้างขึ้นมาช่วยในการตัดต่อคลิปวีดีโออีกนะครับ ในทีนี้ผมขอแบ่งโปรแกรมตัดต่อเป็น 2 ประเภทแล้วกัน นั่นคือโปรแกรมแบบมือสมัครเล่น กับโปรแกรมแบบมืออาชีพ

1. โปรแกรมสำหรับมือสมัครเล่น

โปรแกรม iMovie สำหรับเครื่อง Mac
      เป็นโปรแกรมที่ใช้งานง่าย มีฟังก์ชันสำเร็จรูปให้เลือกใช้หลายๆ แบบ พอทำออกมาแล้วเหมือนมืออาชีพกันเลยทีเดียว แต่ข้อเสียของมันก็คือขาดความยืดหยุ่นในการประยุกต์เพื่อสร้างสรรค์งาน เพราะหลายๆ อย่างถูกจำกัดไว้ให้เป็นแบบตายตัว
      โปรแกรมประเภทนี้ก็อย่างเช่น Video Studio, iMovie  เป็นต้น คือใช้ง่าย งานออกมาสวย น่าตื่นเต้น แต่ Apply ไม่ค่อยได้ครับ

โปรแกรม Video Studio ใช้งานง่าย













2. โปรแกรมสำหรับมืออาชีพ


         ชื่อก็บอกครับว่าเป็นมืออาชีพ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ยากจนเกินไปนะครับ โปรแกรมประเภทนี้จะมีเครื่องมือค่อนข้างมาก เพื่อให้เราสามารถนำเครื่องมือแต่ละอย่างมาประยุกต์ใช้ สร้างสรรค์งานตามที่เราต้องการได้  แต่จะแทบไม่มีฟังก์ชันสำเร็จรูปให้เราใช้เลย  หลายๆ อย่างต้องคิดขึ้นเอง
       โปรแกรมประเภทนี้ก็อย่างเช่น Sony Vegas, Premiere Pro และ Final Cut Pro เป็นต้นครับ

Sony Vegas

Final Cut Pro

Premiere Pro

*** ถ้าถามผมว่าให้เริ่มต้นใช้โปรแกรมแบบไหนก่อนดี...ผมขอให้เลือกใช้โปรแกรมสำหรับมืออาชีพเลยดีกว่าครับ ค่อยๆ เรียนรู้ไป เพราะถ้าเราเป็นแล้วมันจะช่วยได้มากเลย  แต่ถ้าเมื่อไรอยากได้งานเร่งด่วนสวยๆ ค่อยกลับไปใช้บริการพวกโปรแกรมสำเร็จรูปง่ายๆ เอาครับ ส่วนจะเลือกใช้ของค่ายไหนก็แล้วแต่ชอบเลยครับ...ผลงานที่ได้ออกมาพอๆ กัน

www.studiochristos.com

วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2557

ทำไมต้อง...DSLR


           แม้จะมีกล้องหลายอย่างที่สามารถถ่ายทั้งภาพและคลิปวีดีโอได้ ไม่ว่าจะเป็นจากโทรศัพท์มือถือ หรือจากกล้องวีดีโอต่างๆ  แต่สำหรับผมขอแนะนำให้ใช้กล้อง DSLR ครับ


กล้อง DSLR เหมาะสำหรับการทำงานพรีเซ็นเตชั่น

ทำไมต้องเป็นกล้อง DSLR (เอาแบบชาวบ้านๆ เลยนะครับ)


เซ็นเซอร์ขนาดใหญ่ในกล้อง DSLR
ทำให้ได้ภาพวีดีโอที่มีคุณภาพสูง
1. ราคาไม่แพงเกินไป ( เริ่มต้นที่ประมาณ 2 หมื่นขึ้นไป)

       ที่บอกว่าราคาไม่แพงก็เพราะผมเอาไปเปรียบเทียบกับกล้องถ่ายวีดีโอที่สามารถให้ภาพออกมาในระดับเดียวกันนะครับ (อันนั้นราคาเป็นหลักแสน)
       เนื่องจากกล้อง DSLR ถูกออกแบบมาให้เป็นกล้องถ่ายรูปในตอนแรก ดังนั้นจึงมีเซ็นเซอร์ขนาดใหญ่ในการรับภาพ  และพอมีการพัฒนาให้สามารถถ่ายวีดีโอได้ก็ใช้เซ็นเซอร์ตัวเดียวกันนี้ในการถ่ายวีดีโอด้วย ทำให้เราได้ภาพที่สวยงาม คมชัด


2. สามารถเปลี่ยนเลนส์ได้
      อันนี้เป็นคุณสมบัติสำคัญที่ได้เปรียบกว่ากล้องชนิดอื่นๆ ของ DSLR เลยก็ว่าได้ครับ เพราะถ้าคุณจะหากล้องถ่ายวีดีโอที่สามารถเปลี่ยนเลนส์ได้ราคาก็หลายแสนถึงหลักล้านเลยทีเดียว...ค่าเลนส์อย่างเดียวก็เป็นแสนแล้วครับ
       ความสามารถในการเปลี่ยนเลนส์ ทำให้เราได้มุมมองภาพหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นเลนส์ Wide ที่ให้ภาพแบบกว้าง  เลนส์เทเลสำหรับถ่ายภาพระยะไกล  และที่สำคัญเราสามารถใช้เลนส์เพื่อทำให้เกิดเทคนิคการถ่ายภาพแบบระยะชัดตื้น  ชัดลึก (Depth of Field) หรือทำให้ภาพเบลอก่อนแล้วค่อยมาชัดก็ได้ ซึ่งกล้องวีดีโอธรรมดาทำไม่ค่อยได้

มีเลนส์มากมายให้เราเปลี่ยนได้ เพื่อความเหมาะสมในการถ่ายวีดีโอ


เครื่องมือในการทำวีดีโอพรีเซ็นเตชั่น (ตอนที่2)

หลังจากที่เราพูดถึงความสำคัญของไอเดียไปแล้วในครั้งก่อน คราวนี้เรามาดูสิ่งสำคัญที่เราต้องเตรียมเพื่อใช้ในการทำวีดีโอพรีเซ็นเตชั่นด้วยกันอีกอย่างหนึ่งนั่นก็คือ

2. ภาพและคลิปวีดีโอ

เราสามารถหาภาพและคลิปวีดีโอได้จาก 2 แหล่งใหญ่ๆ นั่นก็คือ
ก. ดาวน์โหลดจากอินเตอร์เน็ต
ข. ถ่ายด้วยตัวเอง

แหล่งในการดาวน์โหลดคลิปที่ใหญ่ที่สุดอันดับต้นๆ เลยก็คือ YouTube นั่นเอง เราสามารถดาวน์โหลดคลิปวีดีโอที่มีการเผยแพร่อยู่นี้มาใช้ในการตัดต่อ สร้างงานพรีเซ็นเตชั่นของเราได้  โปรแกรมที่ใช้ดาวน์โหลดก็มีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น IDM หรือ YouTube Downloader เป็นต้น
เราสามารถดาวน์โหลดคลิปวีดีโอจาก YouTube มาใช้ในการตัดต่อได้

นอกจากนี้ยังมีภาพและคลิปวีดีโอที่ขายกันอยู่ในเว็บประเภท Stock Image หรือ Video ต่างๆ อย่างเช่น Shutter stock, Istock photo เป็นต้น ซึ่งไปภาพและไฟล์วีดีโอขนาดใหญ่ มีคุณภาพสูง

ภาพและคลิปวีดีโอที่ขายกันใน Stock Image ต่างๆ


อีกแหล่งหนึ่งในการเตรียมภาพและคลิปวีดีโอก็คือการถ่ายทำด้วยตัวเองครับ
ปัจจุบันมีเครื่ีองมือราคาไม่แพงเป็นจำนวนมากที่ถ่ายภาพและวีดีโอที่มีความละเอียดสูงได้ ไม่ว่าจะเป็นกล้องจาก iPhone หรือ Samsung  รวมถึงกล้องถ่ายรูปประเภท DSLR รุ่นต่างๆ ก็สามารถถ่ายได้ทั้งภาพและวีดีโอในตัวเดียวกัน แถมคุณภาพยังเกือบเทียบเท่ากับงานโปรดักชั่นใหญ่ๆ ด้วยซ้ำ (ปัจจุบันผมก็ใช้กล้อง DSLR ในการทำงานวีดีโออยู่เหมือนกัน)
กล้องจากโทรศัพท์มือถือใช้ภ่ายภาพ
และคลิปวีดีโอคุณภาพสูงได้
กล้อง DSLR ก็เป็นที่นิยมในการถ่ายภาพ
และคลิปวีดีโอเช่นเดียวกัน










จากที่พูดมาทั้งหมดนี้...ผมเชื่อว่าทุกคนย่อมมีอาวุธคู่กายอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่สามารถหาภาพและคลิปวีดีโอมาใช้ในการสร้างสรรค์งานวีดีโอพรีเซ็นเตชั่นได้อย่างแน่นอน...ถ้าอย่างนั้นออกไปถ่ายวีดีโอกันดีกว่า

เครื่องมือในการทำวีดีโอพรีเซ็นเตชั่น

       ก่อนอื่นต้องบอกไว้ก่อนว่า สิ่งที่ผมเขียนนี้อาจจะไม่ได้อิงตามหลักวิชาการนะครับ...เป็นการแบ่งปันความรู้จากประสบการณ์ในการทำงานวีดีโอพรีเซ็นเตชั่นมาหลายปี จะเขียนเป็นภาษาที่เข้าใจง่ายๆ นะครับ ...ทีนี้ เรามาดูเครื่องมือที่สำคัญแต่ละอย่างด้วยกันดีกว่า

1. ไอเดีย


     เป็นเครื่องมือแรกที่จำเป็นมากที่สุด...เราอาจจะไม่ได้มีอุปกรณ์เจ๋งๆ ราคาเป็นแสน แต่หากมีไอเดียดีๆ ก็สามารถทำงานออกมาได้น่าสนใจและเป็นที่ยอมรับได้ครับ
      ไอเดียเกิดจากการเก็บสะสมข้อมูล ประสบการณ์ ถ้าใครเป็นคนชอบดูหนัง (ดูแล้วคิด สงสัย เฮ้ย...แบบนี้เขาทำยังไง ) มีโอกาสที่จะมีไอเดียที่น่าสนใจได้ดีครับ

       โฆษณาดังๆ หลายตัวที่เราเห็นทางทีวี บางตัวแทบไม่มีเทคนิคพิเศษอะไรเลย แต่ใช้ไอเดียล้วนๆ ครับ  ลองดูโฆษณาของกรุงศรีฯ ตัวนี้ก็ได้ครับ



       เนื่องจากปัจจุบัน เรามีเครื่องมือหลายๆ อย่างที่ช่วยให้สามารถทำคลิปวีดีโอเผยแพร่ได้ ดังนั้นวิธีการผลิตผลงานจึงอาจไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญที่สุด แต่ไอเดียที่จะนำเสนอต่างหากที่สำคัญ
       เราลองดูตัวอย่างคลิปดังๆ ใน YouTube ก็ได้ครับ หลายๆ คลิปทำง่ายๆ ไม่มีอะไรมาก แต่ไอเดียเจ๋งก็ดังไปทั่ว ขอยกตัวอย่างคลิปจาก บี้ เดอะสกาแล้วกัน


   ก่อนจะลงมือทำงานวีดีโอพรีเซ็นเตชั่น ลองค้นหาไอเดียการนำเสนอดูก่อนนะครับ  ไอเดียเจ๋งๆ มีชัยไปกว่าครึ่ง...และที่สำคัญ คือตอนทำมันสนุกมากที่จะได้เห็นไอเดียของเราออกมาเป็นงานให้คนอื่นได้ดูกัน

เริ่มต้นทำวีดีโอพรีเซ็นเตชั่น

...อยากได้วีดีโอพรีเซ็นเตชั่นสวยๆ เก๋ๆ จะเริ่มยังไงดี
...ต้องมีอุปกรณ์อะไรบ้างถึงจะทำได้
...กล้องมือถือที่ใช้อยู่จะทำได้ไหม
...จะตัดต่อยังไงให้น่าสนใจ

...ผมเชื่อว่าทั้งหมดนี้คงเป็นคำถามที่หลายๆ คนที่อยากเริ่มต้นทำวีดีโอพรีเซ็นเตชั่นด้วยตนเองสงสัยอยู่ และไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไงดี


ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้จบทางด้านนิเทศฯ หรือการถ่ายภาพ การตัดต่อวีดีโอมาจากที่ไหน แต่ตอนเด็กๆ ชอบเอาเครื่องเล่นวีดีโอสองเครื่องมาก๊อปหนังเรื่องโน้นเรื่องนี้มาผสมปนเปกัน ฉากโน้นบ้างฉากนี้บ้างให้คล้ายกับตัวอย่าง Trailer หนัง

   พอโตขึ้นมาหน่อยก็มีโอกาสมาเรียนรู้เรื่องการทำสื่อวีดีโอ (ด้วยตัวเอง) งูๆ ปลาๆ ไปเรื่อย (สมัยก่อนไม่มี YouTube ให้ค้นหาข้อมูลเหมือนสมัยนี้นะครับ ..กว่าจะได้ความรู้อะไรอย่างนึงนี่ยากมาก) ก็ทำมาเรื่อยๆ จนถึงยุคที่คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตเฟื่องฟู ทุกอย่างก็เริ่มง่ายขึ้น อยากรู้ว่าเทคนนี้ทำยังไงก็มีคนมาสอนให้  ค่อยๆ ทำตามทีละนิดทีละหน่อยก็สามารถทำได้  แล้วก็มีโฮกาสได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องการตัดต่อวีดีโออยู่สองสามเล่ม แล้วก็ทำ Studio เล็กๆ เป็นของตัวเองครับ



 
    บทความเริ่มแรกนี้ก็อยากจะท้าทายทุกคนที่อยากมีผลงานวีดีโอพรีเซ็นเตชั่นดีๆ เป็นของตัวเอง กล้าที่จะเรียนรู้และลงมือทำ ไม่ยากเกินความสามารถของเราหรอกครับ เดี๋ยวผมจะสอนเทคนิคต่างๆ ให้ รับรองว่าเอาไว้อวดเพื่อนได้แน่นอน...มาติดตามด้วยกันนะครับ

   ลองดู Showreel ผลงานในอดีตที่เคยทำมากันก่อนนะครับ